Home > ข่าว ประชาสัมพันธ์ > ผลวิจัยล่าสุดโดยพรูเด็นเชียล และ EIU เผยเทรนด์ดิจิทัลเฮลธ์มาแรงในเอเชีย แนะเพิ่มความร่วมมือรัฐ-เอกชนเพื่อศักยภาพที่เหนือกว่า

ผลวิจัยล่าสุดโดยพรูเด็นเชียล และ EIU เผยเทรนด์ดิจิทัลเฮลธ์มาแรงในเอเชีย แนะเพิ่มความร่วมมือรัฐ-เอกชนเพื่อศักยภาพที่เหนือกว่า

//
Comments are Off

88 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยมีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้ามาช่วยดูแลจัดการสุขภาพส่วนตัว ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการทำแบบสำรวจ
81 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียระบุว่าเทคโนโลยีช่วยให้พวกเขาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
71 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียเชื่อว่าอนาคตพวกเขาจะไว้วางใจในเทคโนโลยีได้มากขึ้นในแง่ของการช่วยเสริมสร้างสุขภาพของตนเองที่ดีขึ้น
รายงาน Asia-wide ฉบับใหม่เสนอให้เพิ่มความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, วันที่ 12 มกราคม 2564 – บริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย (พรูเด็นเชียล) ได้เผยผลการศึกษาล่าสุดในหัวข้อ “The Pulse of Asia – The Health of Asia Barometer” ซึ่งจัดทำโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของนิตยสารชั้นนำระดับโลก “The Economist” โดยเป็นงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์ได้มอบโอกาสให้คนในเอเชียสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

งานวิจัยฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาด้านทัศนคติของคนที่มีต่อการสาธารณสุขในเอเชีย โดยให้ความสำคัญเรื่องความต้องการด้านเครื่องมือและบริการที่จะช่วยนำทางให้ผู้คนในภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ งานวิจัยยังให้ความสำคัญในการศึกษาถึงโอกาสสำหรับภาครัฐในด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพของดิจิทัล เฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) อีกด้วย

เมื่อการยอมรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
การศึกษาฉบับนี้ได้ทำการสำรวจประชากรในวัยที่บรรลุนิติภาวะจำนวน 5,000 รายในตลาดเป้าหมาย 13 แห่งทั่วทั้งทวีปเอเชีย โดยพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถาม (54 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสามารถชำระค่าใช้จ่ายนั้นได้ และที่น่าสนใจกว่าคือ น้อยกว่าหนึ่งในสี่ (22 เปอร์เซ็นต์) สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกกำลังกายและฟิตเนสได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นได้ในปีใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยของทั่วภูมิภาคเอเซียนี้ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่ว่านี้ โดยสี่ในห้า (81 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ทำแบบสำรวจ กล่าวว่า เทคโนโลยีได้ช่วยทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพดียิ่งขึ้น และสองในสาม (60 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าเทคโนโลยียังช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อีกด้วย

และนับจากนี้ไปอีกสามปีก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลด้านสุขภาพจะลดน้อยลงแต่อย่างใด โดย 71 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาจะยิ่งให้ความไว้วางใจกับเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อจะได้มีสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

จากการสำรวจพบว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์เข้ามาช่วยเหลือในการดูแลจัดการสุขภาพส่วนตัว รวมไปถึงอุปกรณ์วัดความดันเลือด สมาร์ทวอทช์ อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบสวมใส่ ซึ่งผลสำรวจนี้แสดงนัยยะว่าประชากรชาวไทยมีความตระหนักด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ราคาของอุปกรณ์ และเรื่องของเวลาในการใช้งาน อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

ความร่วมมือของรัฐและเอกชน หนทางสู่ความก้าวหน้าในด้านการสาธารณสุข
เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของดิจิทัล เฮลธ์แคร์ไปได้ถึงขีดสุด รายงานของ EIU ฉบับนี้ยังเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น โดยแนะนำว่ารัฐบาลควรร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการนำเสนอวิถีทางที่เป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและจัดการในด้านสุขภาพที่ดี

ในรายงานได้เน้นให้เห็นถึงโอกาสสำหรับรัฐบาลในการปรับปรุงข้อมูลด้านการสาธารณสุขผ่านช่องทางดิจิทัล โดยจากผลสำรวจพบว่า โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านสุขภาพส่วนบุคคลและข้อมูลในการดูแลสุขภาพที่ดีที่คนเข้าถึงบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ทำแบบสอบถามยังเห็นด้วยอีกว่าอย่างไรเสียแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดยังคงเป็นข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ดังนั้นรัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองให้มีคุณภาพและน่าเชื่อถือที่สุดให้กับประชาชน

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรมุ่งไปที่การส่งเสริมเครื่องมือที่เชื่อมต่อด้านสุขภาพ แต่สิ่งเหล่านี้ยังต้องมีการวางรากฐานที่มั่นคงบนหลักธรรมาภิบาลข้อมูลอย่างเคร่งครัด การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพถูกรวบรวมเข้าสู่ส่วนกลางอย่างปลอดภัย และยังช่วยเพิ่มความสามารถให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและสร้างสาธารณูโภคทางด้านสาธารณสุขตามที่วางเป้าหมายไว้ได้ดียิ่งขึ้น


นายนิค นิแคนดรู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย กล่าวว่า “งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าขณะที่ภูมิภาคเอเชียได้เริ่มเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์แล้วนั้น ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องหาหนทางที่จะให้คนในภูมิภาคนี้ได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงว่าเทคโนโลยีสามารถให้อะไรแก่พวกเขาได้ ด้านภาครัฐและเอกชนเองควรทำงานร่วมกันเพื่อทำให้โอกาสเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ นั่นคือการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนทุกคน”

“การทำให้ดิจิทัล เฮลธ์แคร์เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นเป็นส่วนสำคัญในความพยายามของ พรูเด็นเชียล ซึ่งเราได้ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “Pulse by Prudential” ที่เราได้ร่วมกับพันธมิตรของเราในการนำเสนอนวัตกรรมสุดล้ำที่ช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากบุคลากรวิชาชีพอีกด้วย โดยเป้าหมายของเราก็เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาวยิ่งขึ้น” นาย นิแคนดรู กล่าวเสริม

นายชาร์ลส รอสส์ บรรณาธิการอำนวยการ หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ (EIU) The Economist กล่าวว่า “งานวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นว่าการทำให้เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่เข้าถึงและราคาสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นจะต้องร่วมมือกัน สิ่งสำคัญในการทำงานคือเลิกการเก็บข้อมูลแบบ silos ที่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียวสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้ และควรสร้างการเชื่อมต่อที่มีความปลอดภัยระหว่างแอปพลิเคชันด้านสุขภาพต่าง ๆ เครื่องมือ และบันทึกข้อมูลผู้ป่วยแบบดิจิทัลที่รวมไว้ในส่วนกลาง”

Comments

comments