Home > ข่าว ประชาสัมพันธ์ > ภารกิจ “ลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล” เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของทุกประเทศท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาด

ภารกิจ “ลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล” เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของทุกประเทศท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาด

//
Comments are Off

โดย นี ซิงจุน
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของแอนท์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการอาลีเพย์

การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเราคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ขณะที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และทำให้ปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดใกล้จะยุติลงในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับเลวร้ายลงในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา โดยมีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดในประเทศไทยในช่วงที่ประเทศกำลังจะเตรียมฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ทำให้เศรษฐกิจต้องชะงักอีกครั้ง และทำให้กลุ่มคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ไปอีกนานแค่ไหน

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาหลายๆ ประเทศ สถานการณ์ที่ยังคงยืดเยื้ออยู่นี้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคธุรกิจ สุขภาพจิตของประชาชน และระบบการศึกษา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้น ส่งเสริมความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ทั้งนี้การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสรรค์สรรค์คือสิ่งที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายข้างต้น

ในประเทศไทย ประชาชนใช้โมบายแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ลงทะเบียนจองและรับวัคซีน ติดตามสถานะการรับวัคซีนทั้งสองโดส บันทึกผลข้างเคียง รวมถึงออกหลักฐานการรับวัคซีน โดยหมอพร้อมยังใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานในการลงทะเบียนอีกด้วย

ด้วยความพยายามที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยได้เปิดตัวโครงการต่างๆ เช่น “เราชนะ” เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผ่านแอปเป๋าตัง โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถเยียวยาประชาชนได้มากถึง 33.5 ล้านคน

แม้วิธีการที่ใช้ช่วยเหลือประชาชนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เราจำเป็นต้องทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนามี “ทักษะทางด้านดิจิทัล” เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถมองหาหนทางใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเราจำเป็นต้องจัดการฝึกอบรมด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนแล้ว ยังจะช่วยขยายโอกาสให้กับทุกคนในยุคดิจิทัล

รายงานเกี่ยวกับ “อนาคตของการทำงาน” (Future of Jobs) ในปี 2563 สภาเศรษฐกิจโลก พบว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด “คือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม” ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ รายงานประเมินว่าภายในปี 2568 อาจมีการยกเลิกตำแหน่งงานราว 85 ล้านตำแหน่ง และอาจมีตำแหน่งงานใหม่สำหรับบทบาทหน้าที่ใหม่เกิดขึ้นราว 97 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เครื่องจักร และอัลกอริธึม

แรงงานไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการทำงานในอนาคต สอดคล้องกับรายการเรื่องทักษะดิจิทัลจาก World Economic Forum ในปี 2563 ชี้ว่ามีเพียง 54.9% ของแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัล และจุดอ่อนคือ “ความไม่พร้อมในการปรับตัวสู่โลกเทคโนโลยีในอนาคต” ดังนั้นการเทรนนิ่ง การศึกษา และทัศนคติต่อการทำงานในอนาคต เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องส่งเสริมสำหรับแรงงานไทย

ด้วยตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน International Finance Corporation (ในเครือธนาคารโลก) และอาลีเพย์ (Alipay) จึงร่วมมือกันเปิดตัว “โครงการ 10×1000 Tech for Inclusion” เมื่อปี 2561 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเทรนนิ่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี 10,000 คนในช่วงระยะเวลา 10 ปี

ด้วยความหวังว่าบุคลากรเหล่านี้จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเติบโตให้แก่บริษัทหรือองค์กรที่ตนเองทำงานพร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน และบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ราว 100,000 คนในประเทศบ้านเกิด ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ ให้คำแนะนำ หรือส่งต่อโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ผู้อื่น

กรณีตัวอย่างของโครงการ 10X10,000 คือ Aruna บริษัทสตาร์ทอัพด้านอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสองคนได้ผ่านการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว แพลตฟอร์มของพวกเขาสามารถเชื่อมต่อชาวประมงท้องถิ่นกับลูกค้าโดยตรง เพื่อช่วยให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับปลา และบรรเทาปัญหาความยากจน นอกจากนี้ Aruna ยังได้บ่มเพาะ “ฮีโร่ท้องถิ่น” (Local Hero) ซึ่งหมายถึงเยาวชนในหมู่บ้านชายฝั่งทะเลที่ช่วยให้ความรู้แก่ชาวประมงถึงประโยชน์ของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โครงการนี้ได้จัดการฝึกอบรมในหลักสูตรใหม่ FinTech Foundation Program โดยมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 160 คนจาก 17 ประเทศในทวีปเอเชีย ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคจากทั่วโลก ซึ่งสามารถปลูกฝังความคิดในการใช้เทคโนโลยี เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และบ่มเพาะความเป็นผู้นำ ทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มของอุตสาหกรรมอีกด้วย

โรซี่ คาห์นนา ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิกของ IFC กล่าวระหว่างการเปิดหลักสูตร FinTech Foundation Program ว่า “แรงงานในปี 2564 ต้องพบเจอกับช่วงเวลาที่ไม่ปกติ และด้วยเหตุนี้เอง บทบาทหน้าที่ ความรู้ความสามารถ และการทำงานของพวกเขาจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ประเทศต่างๆ ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก”

การแพร่ระบาดนับเป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องอาศัยการสร้างสรรค์นวัตกรรม และความมุ่งมั่นทุ่มเทของทุกภาคส่วนเพื่อที่จะเอาชนะวิกฤตในครั้งนี้ ขณะที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ เราจำเป็นต้องมองหาหนทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่เหมาะกับท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อขจัดปัญหาความยากจน และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน

นั่นคือเหตุผลที่เราเชื่อว่าการแก้ไข “ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล” ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาโดยการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างโลกแห่งอนาคตที่สดใส ยั่งยืน และมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ทุกคน

Comments

comments