Home > ข่าว ประชาสัมพันธ์ > เรียกร้อง กสทช. ยุติบทบาทเสือกระดาษ ยุติปัญหามิจฉาชีพออนไลน์

เรียกร้อง กสทช. ยุติบทบาทเสือกระดาษ ยุติปัญหามิจฉาชีพออนไลน์

//
Comments are Off

กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายป้องกันข่าวลวง ปลุก กสทช. ตื่นจากหลับ ขอให้เร่งลงโทษบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือโทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบอร์โทรและ ข้อความเอสเอ็มเอส (SMS)หลอกลวงที่มีมากถึง 6.4 ล้านหมายเลขในปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้พัฒนาระบบป้องกันเบอร์ลวงโลก หลังผู้บริโภคสุดทนต้องโหลดแอปฯ บล็อคเบอร์แบบตามมีตามเกิด กลัวตกเป็นเหยื่อเจ้าหนี้มโน

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยถึงปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์ว่า ในปีที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบทั้ง SMS (บริการส่งข้อความทางโทรศัพท์) และการส่งลิ้งค์ให้ดาวน์โหลดเพื่อรับเงินหรือสิทธิพิเศษต่างๆ การให้เงินกู้ออนไลน์ การพนันออนไลน์ การชักชวนให้ชมภาพอนาจาร ลิ้งค์รับสมัครงาน ฯลฯ ซึ่งเราต้องตั้งคำถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้ ทางมูลนิธิฯ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายภาคกลางของ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)จึงได้จัดตั้ง ช่องทางร้องเรียนทางไลน์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีนี้โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมผู้เสียหาย และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินหน้าเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหา กสทช. ก็ได้ประสานกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อดำเนินการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาหลอกลวงทั้งหมด ก็ไม่แน่ใจว่าการบล็อคดังกล่าวจะเป็นการบล็อคถาวรหรือไม่ และจากการตรวจสอบพบว่ายังเกิดปัญหา SMS หลอกลวงเหมือนเดิม ปัจจุบันมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามากว่า 1,800 ราย จึงได้ยื่นเรื่องให้ กสทช. เอาผิดแก่บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะไม่สามารถบล็อค SMS หลอกลวง ทำให้เกิดการส่งข้อความโดยไม่ได้รับอนุญาตสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้บริโภคอย่างมาก ณ ปัจจุบันปัญหาที่ระบาดหนักคือการโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ ข่มขู่คุกคาม รวมถึงผู้เสียหายหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์กดลิ้งค์และกรอกประวัติส่วนตัวพร้อมทั้งอนุญาตเพื่อให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลในโทรศัพท์ทั้งหมดเพื่อแลกกับเงินกู้ที่ได้ไม่เต็มจำนวน หนำซ้ำพอดำเนินการกู้เรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะต้องโอนค่าธรรมเนียมก่อนที่จะได้รับเงินกู้ ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะหายตัวไป ทำให้เกิดผู้เสียหายจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกวัน แม้กระทั่งปัญหา SIM เถื่อน ที่รอรัฐเข้ามาจัดการปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

“การบังคับใช้กฎหมายด้านการเอาเปรียบผู้บริโภคมีอยู่ชัดเจน แต่เรายังไม่เห็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หากนำมาใช้อย่างจริงจัง เราเชื่อว่าปัญหาจะลดลง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน ทำไมผู้บริโภคต้องจัดการปัญหาด้วยตนเองในเมื่อรัฐมีอำนาจในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง รัฐต้องใช้ดาบที่มีในมือให้ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน SIM เถื่อนก็มี จะจัดการปัญหาตรงนี้อย่างไร” นฤมล เมฆบริสุทธิ์

ปัจจุบัน ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ถือเป็นปัญหาหลักที่หลายประเทศกำลังเผชิญ อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น โดยจะมีรูปแบบการหลอกลวงที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นที่น่าตกใจอย่างมาก เพราะจากรายงานพบว่าในปีที่ผ่านมามีหมายเลขโทรศัพท์ของมิจฉาชีพสูงถึง 6.4 ล้านหมายเลข และช่วงครึ่งปีหลังมีอัตราการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก จนหลายคนต้องป้องกันปัญหาด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพและหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมคือ ฮูส์คอล (Whoscall) สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และ ผู้ก่อตั้ง Cofact โคแฟคประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการป้องกันข่าวลวง กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถคาดหวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้ ผู้บริโภคก็ต้องพึ่งตนเองด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ฮูส์คอล (Whoscall) เมื่อมีเบอร์โทรศัพท์หรือ SMS หลอกลวงเข้ามาแอปฯนี้ก็จะแจ้งเตือนว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพเพราะผู้เสียหายก่อนหน้า ได้ดำเนินการแจ้งไว้ในระบบทำให้สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้ ทั้งนี้อยากให้ผู้บริโภคคอยดูแลตนเอง ต้องไม่เชื่อไว้ก่อนและดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาความจริงจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ทั้งนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ก็ต้องตรวจสอบและบล็อคเบอร์อันตรายเหล่านั้นตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ในออสเตรเลีย ได้ใช้ระบบ AI เพื่อตรวจจับ และประมวลผลการร้องเรียนจากผู้เสียหายเพื่อดำเนินการบล็อคตั้งแต่ต้นทาง เช่นเดียวกับในอังกฤษ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาฟังก์ชันในมือถือ หากใครที่ประสบปัญหา SMS หลอกลวงก็ให้กด 7726 ซึ่งกดแล้วจะเป็นตัวอักษร SPAM หรือ สแปม เบอร์ดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังฐานข้อมูลของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อดำเนินการบล็อคเบอร์ดังกล่าว หากใครที่ถูกหลอกไปแล้วก็จะเปิดหน่วยงานรับร้องเรียนเพื่อให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาต่อทันทีในรูปแบบบริการเบ็ดเสร็จ ( one stop service ) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งในไทยเอง กสทช. ต้องร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ประสานกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหาให้แก่ผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ จึงจะแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ควบคู่ไปกับการที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและช่วยเหลือตนเองโดยการไม่ทำให้ตนเองตกเป็นเหยื่อด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี

“แม้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายราย จะแก้ต่างว่าตนเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ก็ได้เห็นหลายค่ายเช่นกันที่เริ่มมองเห็นทางตันของธุรกิจและประกาศขยายบริการสู่การเป็น เทคคอมพานี ที่สามารถผลิตแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ ก็อยากให้เริ่มจากการทำแอปฯ ที่ช่วยเตือนภัยและบล็อคเบอร์โทรของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก หรือหากไม่มีแผนขยายธุรกิจก็สามารถร่วมกับหน่วยการภาครัฐในการพัฒนาระบบเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาได้ ดังเช่นที่หลายประเทศได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ ก็พร้อมจะรายงานปัญหาให้ทราบอยู่แล้ว ในยุคต่อจากนี้ที่ เมตาเวิร์ส ( Metaverse ) หรือยุคโลกเสมือนเข้ามามีอิทธิพล เราก็ต้องเร่งให้ความรู้กับผู้บริโภคให้รู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม” สุภิญญา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ จุดประกายทางแก้ที่ต้องการให้ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือแสดงความรับผิดชอบและพร้อมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 ได้แนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ให้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานใช้ในการดำเนินคดี “เราต้องสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงโลกความเป็นจริงก่อนว่าไม่มีใครจะปล่อยกู้ให้ได้หากไม่มีหลักค้ำประกัน ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ตรวจสอบข้อมูลเอาให้ชัดเอาให้ชัวร์ หากการกู้ยืมเราต้องเป็นฝ่ายนำเงินให้ผู้ปล่อยกู้ก่อน ก็ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพ หลักคิดคือจะกู้เงินจากเขา ต้องรอเงินจากเขา ไม่ใช่เอาเงินเราไปให้เขา แม้กระทั่งไปยื่นกู้ที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่เคยบอกให้เรานำเงินไปให้ก่อน ความสำเร็จของมิจฉาชีพในยุคนี้คือการที่คนไทยขายบัญชีธนาคารให้กลุ่มมิจฉาชีพหรือที่เรียกว่า “บัญชีม้า” เพื่อรอรับเงินโอนจากผู้เสียหาย เมื่อถึงขั้นตอนการสืบสวนแม้จะอ้างว่าไม่รู้เรื่อง แต่กฎหมายก็ระบุไว้ว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการฉ้อโกงอย่างชัดเจน จากการประสานไปยัง กสทช. เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ณ ปัจจุบัน กสทช. ได้ประสานไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อกำหนดให้ผู้ใช้บริการแต่ละคน มีหมายเลขของตนเองได้ไม่เกิน 5 หมายเลข ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้น และสุดท้ายของเส้นทางปัญหาคือธนาคารก็ต้องกำหนดมาตรการป้องกันร่วมด้วยเช่นกัน

“การหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ประกอบด้วย ส่วนของแอปพลิเคชันหลอกลวง โดยภาครัฐต้องเร่งหาวิธีการเพื่อกำจัดแอปฯ เหล่านี้ให้เร็วที่สุด ส่วนที่สองเป็น วอยส์ หรือระบบเสียง กสทช. ต้องเข้ามาดำเนินการไม่ให้เบอร์โทรต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ และส่วนที่สามเป็นข้อความ SMS ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือต้องพัฒนาระบบในแบบ ทูเวย์ หรือ สองด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการร้องเรียน ได้ทันที และส่งเบอร์เหล่านั้นไปยัง กสทช. เพื่อส่งต่อมายังกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหาช่องทางจับกุมคนร้ายต่อไป” พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องโทรศัพท์ ปัจจุบันมีมากถึง 80 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีมูลค่าระดับพันล้านได้ จึงเป็นประเด็นสำคัญมาก และที่รุนแรงมากคือการชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ มีวิธีการที่ถึงตัวผู้บริโภคเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน เมื่อทราบว่าสามารถกู้เงินได้ง่ายๆ ก็จะยิ่งทำให้ตัดสินใจกู้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่มีโอกาสได้โดยง่าย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก สอบ. เชื่อว่าผู้บริโภคทุกวันนี้ช่วยเหลือตัวเองอยู่ทุกคน ดังนั้น เราอยากเห็นการจัดการที่เป็นระบบของ กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ การทำเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคชัดเจนตามประกาศเอาเปรียบของ กสทช. ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ที่ระบุว่า กสทช. มีอำนาจปรับได้สูงถึง 5 ล้านบาท หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา ยังสามารถปรับได้ไม่เกินวันละ 100,000 บาท คือถ้าทำจริงจังตามที่กฎหมายระบุ น่าจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเริ่มเกิดความตระหนักและเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่มากขึ้น เราอยากเห็นความร่วมมือถ้วนหน้าจากผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งเราต้องเปลี่ยนมุมมองการให้บริการผู้บริโภคกันใหม่ ให้สนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างไร การที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้ขายเบอร์โทรศัพท์ให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพก็ถือเป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้นจึงอยากจะเห็นความตั้งใจจริงในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่ยากจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องได้

“ปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในไทยมีจำนวนไม่มากนัก และอาจจะมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคตหาก กสทช. ไม่เข้ามาดำเนินการ การที่ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนค่ายเป็นไปได้ยาก เมื่อมีความจำกัดทุกส่วน ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ต้องพิจารณาดำเนินการ เพราะสามารถทำได้ภายใต้กติกาทุกอย่างที่ กสทช. มี ในเชิงภาพรวมได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก หาก กสทช. ไม่เร่งแก้ไขก็จะยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็มีโอกาสถูกหลอกในด้านการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ การชักชวนให้เล่น คริปโตฯ ซึ่งคาดว่าการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือการธนาคารจะมีให้เห็นและพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นแน่นอน” สารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริม

Comments

comments

You may also like
ดีแทคเผยส่ง OTP ราว 5 แสนรายการใน 9 นาทีช่วงลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง
ดีแทค ไตรเน็ต ชำระค่าคลื่นความถี่ 700 MHz
กสทช. เร่งผลักดัน IoT เดินหน้าลดความเสี่ยงภัยคุกคามไซเบอร์