เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) แนะธุรกิจปรับรูปแบบการทำงานสู่ระดับที่สร้างประสิทธิผลที่สูงขึ้น ด้วยรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป มีการทำงานแบบ Remote working มากขึ้น การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ (Policy & Guideline) เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) การเตรียมความพร้อมพนักงาน (People) และกระบวนการ (Process) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปสู่การทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ทั้งด้านการบริการลูกค้า (Client service) ความสำเร็จขององค์กร (Firm’ s success) และความพึงพอใจส่วนบุคคลของพนักงาน (Personal satisfaction) ABeam พบองค์กรส่วนมากทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานเพียงระดับแรกด้วยการทำระบบ IT และแอปพลิเคชันที่สนับสนุนการทำงานในรูปแบบใหม่ดังกล่าว และยังคงประสบปัญหาในการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในยุควิถีใหม่ ย้ำธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิค-19 ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ มากมายในด้านประสิทธิภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน จากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป มีการทำงานในรูปแบบ Remote working มากขึ้น มีวิธีใหม่ในการสื่อสารและมีเครื่องมือการทำงานที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงาน
“ทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงาน หรือ Workstyle Transformation เน้นปรับกระบวนการและวิธีการทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายองค์กร การให้บริการลูกค้า และความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น หลายองค์กรประสบปัญหาเนื่องจากนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ที่ไม่ชัดเจน พนักงานขาดทักษะความรู้ความเข้าใจ และกระบวนการทำงานที่ไม่มีความพร้อมสอดรับกับยุควิถีใหม่ ทั้งนี้ ABeam พบว่ามีองค์กรส่วนมากทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานเพียงระดับแรกด้วยการทำระบบ IT และ Applications ที่สนับสนุนการทำงานในรูปแบบใหม่ดังกล่าวและยังคงประสบปัญหาในการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากนโยบายและแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน พนักงานขาดทักษะความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งกระบวนการทำงานที่ไม่มีความพร้อมในยุควิถีใหม่” นายฮาระกล่าว
จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับองค์กรในการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงาน Abeam แบ่งระดับการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เป็นการติดตั้ง IT และแอปพลิเคชัน เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานในรูปแบบใหม่ได้ แต่พนักงานยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบดังกล่าว ระดับที่ 2 คือพนักงานสามารถใช้เครื่องมือ IT ที่องค์กรติดตั้งให้ได้ แต่ยังคงทำงานไม่ได้ประสิทธิผลในระดับที่ตั้งไว้ ระดับที่ 3 เป็นระดับที่องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยประสิทธิผลที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการใช้กระบวนการดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนการทำงานด้วยการลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น (Lean and Digitalized process) และระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานที่ดีที่สุด คือการที่องค์กรมีการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business model reform) เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ด้วยการเชื่อมต่อทั้งลูกค้าและพันธมิตรเข้าด้วยกัน
“ABeam แนะนำให้ธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานในยุควิถีใหม่ที่มีการทำงานแบบ Remote working มากขึ้น โดยอย่างน้อยคือให้ได้ระดับที่ 3 เพื่อการทรานส์ฟอร์มที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว อันจะนำมาซึ่งประสิทธิผลในการทำงานที่เท่าหรือมากกว่าระดับเดิมก่อนการทรานส์ฟอร์ม โดยระเบียบวิธี (Methodology) ของ ABeam ในการนำไปสู่การทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะประกอบด้วย 4 เสาหลัก และ 6 ขั้นตอน จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ABeam สามารถช่วยบริษัทต่าง ๆ ให้บรรลุระดับ 3 ของการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานได้ภายเวลาไม่กี่เดือน” นายฮาระอธิบาย
4 เสาหลักในกระบวนการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงาน ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ (Policy & Guideline) เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) การเตรียมความพร้อมพนักงาน (People) และกระบวนการ (Process) โดย 6 ขั้นตอนในการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงาน ได้แก่ 1. การกำหนดนโยบายและกฎระเบียบของการทำงานแบบ Remote Working 2. การเลือกเครื่องมือและแอปพลิเคชัน ด้านที่สนับสนุนการทำงานรูปแบบดังกล่าว 3. การมีโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัยด้าน IT สำหรับการทำงานแบบ Remote working 4. การบริหารจัดการแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงาน 5. กระบวนการบริหารจัดการการทำงานในรูปแบบใหม่ และ 6. กระบวนการทำงานในรูปแบบดิจิทัลต่าง ๆ
“การทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในสภาพการทำงานที่มีการทำงานแบบ Remote working มากขึ้นนั้น จะต้องตอบโจทย์ธุรกิจทั้งด้านการบริการลูกค้า (Client service) ความสำเร็จขององค์กร (Firm’ s success) และความพึงพอใจส่วนบุคคลของพนักงาน (Personal satisfaction) ถึงแม้ปัจจุบันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยนับว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ แต่เราแนะนำให้องค์กรเร่งทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงาน เพื่อให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการเตรียมการณ์ภายใต้แผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan” นายฮาระกล่าวทิ้งท้าย