กรุงเทพฯ ประเทศไทย 13 พฤษภาคม 2564 – การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์ว่าปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะส่งผลกระทบตลอดทั้งปีนี้ และจะกลับคืนสู่ภาวะปกติช่วงไตรมาส 2 ปี 2565
คานิสกัส ชัวฮาน นักวิเคราะห์หลัก ฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลาย ๆ ประเภทในปีนี้ ขณะที่โรงงานผลิตขึ้นราคาแผ่นเวเฟอร์ที่เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตชิป และมีผลต่อเนื่องไปถึงบริษัทผู้ผลิตชิปก็ขึ้นราคาตามไปด้วย”
ปัญหาการขาดแคลนชิปเริ่มเกิดกับอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ก่อน อาทิ อุปกรณ์สำหรับการจัดการพลังงาน จอแสดงผล และไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่ผลิตจากบนโหนดการทำงานแบบเดิม ๆ ของโรงงานผลิตชิปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ซึ่งมีวัตถุดิบจำกัด เวลานี้ปัญหาการขาดแคลนส่งผลต่อไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ และมีข้อจำกัดด้านความจุ รวมถึงขาดสารตั้งต้นในการผลิต กระบวนการเชื่อมลวดทองคำ ส่วนประกอบแบบพาสซีฟ วัสดุและการทดสอบ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเป็นปัญหานอกจากเรื่องโรงงานผลิตชิป เนื่องจากส่วนประกอบเหล่านี้เป็นสินค้าในอุตสาหกรรมโภคภัณฑ์ขั้นสูงและมีความยืดหยุ่นน้อย และส่งผลต่อความสามารถในการเพิ่มการลงทุนเชิงรุกในระยะเวลาสั้น ๆ
การ์ทเนอร์คาดว่าปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์แทบทุกหมวดหมู่จะกระทบต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 (ดูรูปภาพที่ 1) ในขณะที่ข้อจำกัดด้านปริมาณของสารตั้งต้นในการผลิตชิปอาจใช้เวลาไปถึงไตรมาส 4 ปี 2565
ภาพที่ 1. Gartner Index of Inventory Semiconductor Supply Chain Tracking – คาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีสินค้าคงคลังเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกปี 2564-2565
Note: ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2564 เป็นแบบจำลองการคาดการณ์ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงตามฐานข้อมูลการเงินตามรายงานของผู้จำหน่ายช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 และแถบดัชนีชี้วัดไตรมาส 1 ปี 2564 – ไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นเพียงการคาดการณ์ทิศทางที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
ที่มา: การ์ทเนอร์ (พฤษภาคม 2564)
นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์แนะนำ 4 แนวทางการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัทผู้ผลิต OEM ที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ทั้งจากทางตรงและทางอ้อม สำหรับลดความเสี่ยงและการสูญเสียรายได้ในช่วงภาวะขาดแคลนชิปทั่วโลก ดังนี้
ขยายมุมมองในห่วงโซ่อุปทาน – ภาวะการขาดแคลนชิปทำให้ผู้นำห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องขยายมุมมองด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยมองข้ามช็อตไปจนถึงระดับซิลิคอนนอกเหนือจากระดับซัพพลายเออร์ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคาดการณ์ข้อจำกัดด้านอุปทานและปัญหาคอขวด หรือแม้แต่ช่วยคาดการณ์สถานการณ์วิกฤตว่าจะฟื้นกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้เมื่อไร
รับประกันการจัดหาด้วยโมเดลธุรกิจร่วม และ/หรือ เพิ่มการลงทุนล่วงหน้า – ธุรกิจ OEM ที่มีขนาดเล็กกว่าและต้องการส่วนประกอบสำคัญต้องมองหาพันธมิตรที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน และร่วมมือกับผู้ผลิตชิป และ/หรือ ผู้เล่นในธุรกิจบริการเข้าแพ็กเกจชิป (Outsourced Semiconductor Assembly and Test or OSAT) ในฐานะพันธมิตรเพื่อรับผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้หากเป็นไปได้ เพิ่มการลงทุนล่วงหน้าในส่วนที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ของห่วงโซ่อุปทานชิป และ/หรือโรงงานผลิตชิปเพื่อรับประกันว่าบริษัทจะมีสินค้าสำรองในระยะยาว
การติดตามตัวชี้วัด – แม้ไม่มีพารามิเตอร์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การขาดแคลนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่การนำพารามิเตอร์หลาย ๆ ตัวที่เกี่ยวข้องมาใช้ร่วมกัน สามารถนำองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้องได้
กัวราฟ กุปต้า รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิปมีความผันผวนอยู่ตลอด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจว่าสถานะของชิปเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การติดตามตัวชี้วัด เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุน ดัชนีสินค้าคงคลังและการคาดการณ์การเติบโตรายได้ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ในช่วงเริ่มแรก ที่สามารถช่วยองค์กรให้ได้รับข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาและเห็นว่าอุตสาหกรรมโดยรวมนั้นเติบโตขึ้นอย่างไร”
สร้างฐานซัพพลายเออร์ให้หลากหลาย – การคัดสรรชิปจากแหล่งที่มาแตกต่างกัน และ/หรือ พาร์ทเนอร์ในธุรกิจบริการเข้าแพ็กเกจชิป (OSAT) ต้องมีการทำงานและการลงทุนเพิ่มเติม แต่ในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นและเชิงกลยุทธ์กับผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าทั่วไป เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสรรหาส่วนประกอบในปริมาณไม่มากในช่วงที่ต้องการเร่งด่วนได้
ลูกค้าการ์ทเนอร์สามารถคลิกอ่านรายงานเพิ่มเติมได้ที่ “Semiconductor Inventory Analysis Worldwide, 1Q21 Update,” “Expert Insight Video: Global Chip Shortage Impacting the Automotive Sector,” และ “Quick Answer: What Supply Chains at OEMs Dependent on Semiconductors Must Do in Wake of Current Chip Shortages.”